Damping Factor จุดสำคัญที่ช่วยให้เสียงลำโพงออกมาดีเยี่ยม!

 
เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “Damping Factor” หรืออาจจะเคยผ่านตาจากสเปกของพวก Amp กันมาก่อน แต่ก็ไม่เคยรู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ และมีความสำคัญอย่างไร? วันนี้ ProPlugin HIFI จะมาไขข้อสงสัยกับประเด็นนี้ให้ทุกคนได้ทราบกัน
 
Damping Factor เป็นอีกจุดสำคัญในการกำหนดคุณภาพเสียง และยังเป็นตัวที่บอกถึงคุณภาพของภาคขยายได้อย่างดี หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ความสามารถของภาคขยายในการหยุดการสั่นค้างของกรวย (โดม) ของดอกลำโพง ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพราะถ้าค่า Damping Factor ไม่ดี จะทำให้เสียงเกิดอาการครา งหรือทิ้งตัวนานเกินไปจนขาดความกระฉับกระเฉงนั่นเอง
 
แล้วค่าเท่าไรถึงจะดี? ซึ่งเรื่องค่าของ Damping Factor นี้จะคิดจากความต้านทานของระบบลำโพงหารด้วยความต้านทานขาออกของภาคขยาย ยิ่งความต้านทานขาออกของภาคขยาย (ZOUT) ต่ำแค่ไหน ค่า Damping Factor จะยิ่งสูงเท่านั้น ปกติภาคขยายเสียงขาออกลำโพง ควรมีค่า Damping Factor ไม่น้อยกว่า 100 ซึ่งในเพาเวอร์แอมป์บางเครื่องให้ค่า Damping Factor สูงถึง 500 หรือ 1,000 ก็มี แต่บางเครื่องก็ต่ำมากคือไม่ถึง 20 ซึ่งต่ำเกินไป ได้แก่ เครื่องหลอด ซึ่งต้องใช้หม้อแปลงคั่นที่ขาออก
 

ต้องทำอย่างไรจึงจะได้ค่า Damping Factor สูง

 
1.วิธีการทำให้ค่า Damping Factor สูงขึ้นนั้น มีการทำหลายวิธี เช่น ใช้การป้อนกลับแบบลบมาก ๆ หรือที่เรียกกันว่า “Negative Feedback” (NFB) จากขาออกภาคขยาย และป้อนสัญญาณกลับมาขาต้นภาคขยาย การทำเช่นนี้มีเป้าหมายคือลดความเพี้ยนของ THD (Total Harmonic Distortion) แต่ถ้าทำ NFB มากไป จะเหนี่ยวนำให้เกิดความเพี้ยนรูปแบบใหม่คือ TIM (Transient Intermodulation Distortion) เสียงจะกร้าว แข็ง กระด้าง และบางทีจะสะบัดปลาย แต่ผลพลอยได้คือค่า Damping Factor จะสูงขึ้นมาก ๆ
 
2.วิธีที่สองคือ ใช้ภาคขยายขาออกต่อขนานกันหลายชุด เพื่อลดความต้านทานขาออก (ZOUT) แถมอัดฉีดกระแสได้มากขึ้น และฉับไวขึ้นได้ด้วย แต่วิธีนี้มีราคาแพงมาก ไม่ค่อยมีคนนิยมทำกัน
 
3. วิธีที่สามคือ ลดความต้านทานขาออกของภาคจ่ายไฟให้ต่ำสุด ควบคู่ไปกับการลดความต้านทานขาออกของภาคขยาย เพราะ 2 ภาคนี้ต่อนุกรมกันอยู่ ถ้าตัวหนึ่งยังสูงก็ป่วนการลดอีกตัวได้ เนื่องจากภาคจ่ายไฟที่ ZOUT ต่ำ ๆ มักออกแบบยากและแพง
 
4. ในส่วนของวิธีสุดท้าย คือ หันไปเล่นลำโพง Active แทน เพราะเราสามารถตัดวงจรแบ่งเสียงที่มากับระบบลำโพงออก และใช้ภาคขยายเสียงขับไปเข้าที่ดอกลำโพงได้โดยตรง ซึ่งจะลดปัญหาได้ในหลาย ๆ จุด ลำโพง Active ในปัจจุบันจึงให้คุณภาพเสียงที่ดีได้ แม้ไม่ต้องต่อผ่าน Amp คุณภาพสูง ๆ ก็ตาม

ใส่ความเห็น