เปิดเทคนิคการดู Audio Meter สำหรับบันทึกเสียง

ProPlugin เปิดเทคนิคการดู Audio Meter สำหรับบันทึกเสียง บันทึกเสียงไปดี ก็ทำให้นำไปมิกซ์ได้ง่ายขึ้นทันที !!! ในขั้นตอนบันทึก นักดนตรีหลายๆคนมักจะใช้ Audio Meter ในการดูสัญญาณขาเข้าในการบันทึกเสียง ซึ่งหลายๆ คนก็จะดูสีของไฟที่บอกสถานเป็นหลัก บางคนก็อาจจะดูตัวเลขที่บอกระดับของสัญญาณเข้าไปเป็นหลัก  ก่อนที่จะไปบอกว่าควรดูไฟแบบไหน หรือดูค่าตัวเลขที่บอกความแรงของสัญญาณเท่าไหร่นั้น แอดจะมาเล่าให้ฟังครับว่า Audio Meter มีกี่แบบหลักๆ บ้างที่ใช้ดูความแรงของสัญญาณในการบันทึกเสียง สำหรับในวันนี้เราจะมาพูดถึงเฉพาะในเรื่องของ Audio Meter ในการบันทึกเสียง

Audio Meter คืออะไร และมีกี่ประเภท

Audio Meter ต่างๆ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ครับ เราเรียกมันว่า PPM Meter และ VU Meter แล้ว PPM นั้นย่อมาจากคำว่า Peak Programme Meter โดยเจ้า PPM Meter นี้มันจะขยับขึ้นลงตามระดับความแรงของสัญญาณที่ป้อนเข้าไป ส่วน VU Meter นั้นย่อมาจากคำว่า Volume Unit ครับ ซึ่งเจ้า VU Meter นี้จะไม่ได้แสดงระดับความดังแบบ Real-time ครับ แต่จะเป็นการแสดงค่า RMS ซึ่งเป็นเหมือนการแสดงค่าเฉลี่ยของความดังในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งทำให้เราสามารถอ่านระดับเสียงได้ง่ายกว่า

การใช้งาน Audio Meter

คราวนี้ในการใช้งานเราจึงมักจะได้ใช้ VU Meter กันมากกว่าครับ แต่เจ้า VU Meter ก็มีปัญหาอยู่ที่ว่าในเมื่อมันแสดงค่า RMS ที่เป็นค่าเฉลี่ย มันจึงไม่ได้แสดงค่า Peak จริงๆ จึงทำให้เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจุดที่ Peak จุดนั้นมันถึงจุดที่อาจจะทำให้เกิด Distortion รึเปล่า ถ้าใครเคยลองสังเกตที่ VU Meter กัน ก็จะเห็นว่าที่ VU Meter จะมีค่า 0 อยู่ค่อนไปทางขวา (สำหรับ Meter ที่เป็นเข็ม) ซึ่งจริงๆแล้วเลข 0 นี้ไม่ใช่ 0dB แต่เป็น 0VU ครับ แล้ว 0VU ของอุปกรณ์กลุ่ม Professional Audio นั้นจะมีค่าระดับสัญญาณอยู่ที่ +4dBu ซึ่งถือเป็นระดับสัญญาณมาตรฐาน (Standard Operating Level) ของการทำงานในกลุ่ม Professional Audio ครับ เวลาทำงานเราจึงมักจะนิยมรักษาระดับสัญญาณของเราให้อยู่ประมาณ 0VU เพื่อให้อยู่ในระดับความดังมาตรฐาน แต่ 0VU ในกลุ่มอุปกรณ์ Broadcast จะถูกตั้งให้อยู่ในระดับสัญญาณ +6dBu ซึ่งเป็นมาตรฐานของงาน Broadcast Audio ครับ ส่วน PPM Meter โดยทั่วไป จะแสดงเป็นค่า dB จริงๆ ครับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น dBu นั่นเอง ส่วน Audio Meter ที่อยู่ใน DAW นั้นโดยปกติมักจะเป็น dBFS ครับ ซึ่ง dBFS ก็จะมีค่าสูงสุดอยู่ที่ 0dBFS โดยเมื่อเราปล่อยสัญญาณที่เป็น +4dBu จากอุปกรณ์ Analogue เข้ามาที่ Audio Interface ตัว Converter จะถูกตั้งค่ามาให้แปลงสัญญาณนั้นเป็นระดับ -18dBFS ครับ พูดง่ายๆ ก็คือ 0VU จาก Analogue จะเท่ากับ -18dBFS นั่นเอง

สรุป การใช้ Audio Meter สำหรับการดูสัญญาณบันทึกเสียง

การดู Audio Meter ใน DAW ตอนบันทึกเสียง ระดับสัญญาณที่เหมาะสมในการบันทึกเสียงนั้นจะอยู่ที่ประมาณ -18dBFS ซึ่งจากที่แอดเคยวัดค่า ในช่วงที่เรียน และเคยอ่านพบมา เมื่อระดับมีความแรงถึง -12dBFS ก็เริ่มเกิด Harmonic Distortion ขึ้นแล้ว ถ้าดูจากภาพที่แอดนำมาก็คือจุดที่เป็นสีเหลือง  แต่ถ้าความแรงของสัญญาณไปถึง 0dBFS เมื่อไหร่ก็คือเกิด Harmonic Distortion แบบหนักเลย ซึ่งจริงๆแล้วที่แนะนำให้บันทึกเสียงที่ -18dBFS นี่ก็ไม่ใช่ข้อบังคับแต่อย่างใด้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการว่าอยากได้เสียงแบบไหน จริงๆแล้วก็ควรจะดูว่าเราใช้มาตรฐานของฝั่งยุโรป : EBU (European Broadcasting Union) หรือฝั่งอเมริกา : SMPTE (Society of Motion Picture & Television Engineers) ซึ่ง -18dBFS จะเป็นของอเมริกา ส่วนของยุโรปจะเป็น -20dBFS

ใส่ความเห็น