Audio Interface และพื้นฐานการบันทึกเสียงสำหรับมือใหม่

       บทความตอนนี้เราจะกลับมาที่เรื่องพื้นฐานสุด จุดเริ่มต้นของการเริ่มทำงานเพลง นั่นคือการบันทึกเสียงหรืออัดเสียงสำหรับมือใหม่ 

ด้วยเทคโนโลยีของออดิโออินเตอร์เฟส(Audio Interface)ในปัจจุบัน ทำให้การเริ่มทำงานบันทึกเสียงเพื่อทำเพลงด้วยตัวเองที่บ้าน เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ บทความนี้เป็นการแนะนำให้รู้จักหน้าที่ของออดิโออินเตอร์เฟส ว่าทำอะไรได้บ้าง เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการเริ่มบันทึกเสียงด้วยตัวเอง

AW_Online-05.jpg


ทำความรู้จักออดิโออินเตอร์เฟส  (Audio Interface)
ออดิโออินเตอร์เฟส ถือเป็นอุปกรณ์ที่เป็นศูนย์กลางของการทำเพลงในปัจจุบัน เพราะเป็นอุปกรณ์ที่เราใช้เสียบนำสัญญาณเสียงจากอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ไมโครโฟน กีต้าร์ เบส สัญญาณไลน์จากแหล่งเสียงอื่นๆ แปลงเป็นข้อมูลดิจิตอลเพื่อจัดเก็บบันทึกไว้ได้ และเป็นตัวแปลงนำข้อมูลที่บันทึกไว้ แปลงเป็นเสียงออกมาสู่ลำโพงและหูฟัง หรือมองภาพง่ายๆ ก็คือออดิโออินเตอร์เฟสคือซาวด์การ์ดที่เอาไว้อัดและเล่นเสียง

ซาวด์การ์ดทั่วไป เช่น ซาวด์การ์ดที่ติดมากับคอม (Soundcard on board) ในปัจจุบันแทบทั้งหมดมีช่องต่อให้เสียบไมค์ได้ และอาจมีช่องต่อนำสัญญาณเสียงจากแหล่งอื่นเข้ามาได้ (Line In) ทำให้สามารถนำมาบันทึกเสียงได้ 

แต่ความต่างของออดิโออินเตอร์เฟสสำหรับการทำเพลงกับซาวด์การ์ดทั่วไปก็คือ คุณภาพของสัญญาณที่อัดได้ ที่ออดิโออินเตอร์เฟสทำมาให้รับกับสัญญาณของอุปกรณ์ทางด้านงานดนตรี เช่น ไมค์ กีต้าร์ ไลน์จากเครื่องดนตรีไฟฟ้า ทำให้มีเสียงรบกวนน้อยและคุณภาพเสียงที่ดีกว่า และข้อสำคัญคือมีการทำงานของไดรเวอร์ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับโปรแกรมดนตรี ทำให้มีความเร็วในการตอบสนองการบันทึกเสียงและการเล่นเสียงที่เร็ว ในขณะที่ซาวด์การ์ดทั่วไปไม่มีไดรเวอร์ที่ออกแบบมาให้โปรแกรมดนตรี ทำให้การทำงานมีความหน่วงและกระตุกได้

สำหรับบทความตอนนี้ ทางโปรปลั๊กอินได้ส่ง Tascam US-2×2 ให้ผมใช้เป็นตัวอย่างต้นแบบในการอธิบายถึงหน้าที่และสเปคต่างๆ ของออดิโออินเตอร์เฟส โดย Tascam เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์บันทึกเสียงที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมนี้มานานหลายสิบปี สินค้าจาก Tascam จึงมีคุณภาพมาตรฐานที่เชื่อมั่นได้ ส่วน Tascam US-2×2 เป็นออดิโออินเตอร์เฟสในช่วงราคาสำหรับผู้เริ่มต้น ที่มีสเปคทุกอย่างที่จำเป็นครบถ้วนสำหรับการเริ่มทำงานเพลง จึงเหมาะที่จะนำมาใช้เป็นตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจการทงานของออดิโออินเตอร์เฟส

AW_Online-06.jpg


จำนวน In / Out
คือจำนวนช่องสัญญาณที่ต่อกับอุปกรณ์ภายนอกได้ โดย In คือช่องต่อสัญญาณเข้า และ Out คือช่องสัญญาณออก

ช่อง Out คือช่องสัญญาณออกที่เราใช้ต่อไปยังลำโพงเพื่อฟังเสียง จึงมีจำนวน 2 Out เป็นมาตรฐานสำหรับต่อลำโพง 1 คู่ซ้ายและขวา ออดิโออินเตอร์เฟสระดับสูงขึ้นที่มีจำนวนช่อง Out มากกว่าสอง ก็เพื่อประโยชน์ในการใช้กับอุปกรณ์ภายนอกอื่นๆ เช่น ต่อเอฟเฟกต์ภายนอก, ใช้กับลำโพงมากกว่า 1 คู่, การทำงานกับระบบ Surround เป็นต้น

สำหรับช่อง In ของ Tascam US-2×2  คือช่องต่อด้านหน้า ที่เป็นช่องต่อที่เรียกว่าช่องต่อแบบคอมโบ (Combo Connector) เป็นช่องต่อที่รับสัญญาณจากอุปกรณ์ได้หลายรูปแบบ จำนวน In ของ Tascam US-2×2 คือ 2 In หมายความว่า สามารถต่อกับอุปกรณ์ภายนอก เพื่ออัดเสียงพร้อมกันแบบแยกแทรกได้พร้อมกัน 2 เสียง หรือนำช่องสัญญาณทั้งสองช่องมาอัดแบบ Stereo ได้

ออดิโออินเตอร์เฟสในวันนี้มีจำนวนช่อง In ให้เลือกซื้อตั้งแต่ 1 In จนถึงหลักสิบ สเปคที่ต้องสนใจในการเลือกใช้งานออดิโออินเตอร์เฟสที่สำคัญอย่างแรกก็คือ การเลือกจำนวน Input ที่พอเพียงกับการใช้งาน โดยต้องดูว่าในงานที่เราทำ เราต้องใช้ Input พร้อมกัน จำนวนเท่าไร เช่น

– ถ้าคุณทำงานอยู่บ้าน อัดเสียงพูด อัดเสียงร้อง อัดกีต้าร์ ทีละเสียง คุณใช้ออดิโออินเตอร์เฟสแบบ 1 In ก็เพียงพอต่อการทำงาน เพราะคุณอัดเสียงแค่ทีละ 1 แทรก ซึ่งออดิโออินเตอร์เฟสแบบ 1 In เช่น Tascam US-1×2 ก็เพียงพอต่อการใช้งานในเรื่องจำนวน In และมีราคาถูกกว่า US-2×2 เหมาะสำหรับใช้เริ่มต้นทำงานในงบประมาณที่ไม่สูง

– ถ้าคุณต้องการอัดเสียงร้องของคุณพร้อมกับเล่นกีต้าร์ไปด้วย หรือต้องการอัดเก็บเสียงจากเปียโนไฟฟ้า คีย์บอร์ด หรืออัดเสียงในรูปแบบ Stereo อัดเสียงในแบบสองไมค์ คุณต้องใช้ออดิโออินเตอร์เฟสที่อัดได้ 2 In อย่าง Tascam US-2×2

– ถ้าคุณต้องการอัดกลองสด หรืออัดการเล่นของวงดนตรีพร้อมกัน คุณต้องใช้ออดิโออินเตอร์เฟสที่มีจำนวน Input มากกว่า 2 In อย่างการอัดกลองสดคุณควรวางไมค์อัดกลองขั้นต่ำ 4 ไมค์ แปลว่าคุณต้องมีอินเตอร์เฟสที่มี Input อย่างน้อย 4 In เป็นต้น ถ้าอัดจำนวนไมค์มากขึ้นก็ต้องใช้ Input มากขึ้น

ย้ำอีกที การเลือกจำนวน Input นี้ เป็นเรื่องสำคัญในการเลือกใช้งานออดิโออินเตอร์เฟส ซึ่งต้องซื้อให้เพียงพอกับการใช้งาน

ทำความรู้จักช่องต่อแบบคอมโบ (Combo Connector)
ออดิโออินเตอร์เฟสในปัจจุบันแทบทุกตัว มีช่องต่อสัญญาณแบบคอมโบมาให้ รวมทั้ง Tascam US-2×2 ด้วย ช่องต่อแบบคอมโบ แตกต่างจากช่องต่อไมค์แบบทั่วไป คือจะมีรูตรงกลางขนาดใหญ่แล้วล้อมรอบด้วยรูเล็กที่เป็นช่องต่อไมค์ 3 รู โดยช่องต่อแบบคอมโบจะต่อกับอุปกรณ์เสียงได้ 3 รูปแบบ ตามค่าความแรงของชนิดสัญญาณ ได้แก่

1. ต่อรับสัญญาณจากไมโครโฟน – โดยใช้หัว XLR แบบ 3 Pin เสียบได้เลย ที่ช่องต่อคอมโบมีรูเล็กๆ 3 รู เป็นช่องสำหรับหัว XLR เสียบได้พอดี

** ข้อสำคัญคือ การต่อไมค์ใช้งานกับออดิโออินเตอร์เฟส ต้องต่อโดยใช้สายที่เป็นหัว XLR เท่านั้น ห้ามใช้สายที่เป็นหัวต่อแบบ TS หรือแบบหัวต่อกีต้าร์มาเสียบอัดไมค์ ตรงนี้เป็นความผิดพลาดที่เจอบ่อยมากสำหรับนักอัดเสียงมือใหม่ คือใช้สายต่อผิดประเภท

AW_Online-08.jpg


2. ต่อรับสัญญาณแบบ Line – รับสัญญาณเสียงที่อยู่ในระดับ Line Level เช่นสัญญาณจากเครื่องเล่น CD, DVD, Keyboard โดยใช้หัวแบบ TRS Balance หรือหัวต่อแบบหูฟังหัวใหญ่เสียบเข้าที่รูใหญ่ตรงกลางช่องคอมโบ โดยที่ออดิโออินเตอร์เฟสต้องเลือกชนิดสัญญาณเป็น Line ออดิโออินเตอร์เฟสบางรุ่น


3. ต่อรับสัญญาณแบบ Hi-Z หรือ Instrument – รับสัญญาณจากการเสียบกีต้าร์ไฟฟ้าและเบสไฟฟ้า โดยใช้หัวแบบ TS หรือหัวต่อแบบเสียบกีต้าร์ เสียบเข้าที่รูใหญ่ตรงกลางช่องคอมโบ โดยที่ออดิโออินเตอร์เฟสต้องเลือกชนิดสัญญาณเป็น Instruments

AW_Online-07.jpg


ข้อสำคัญในการบันทึกเสียงให้ได้คุณภาพอย่างแรกๆ ก็คือ ต้องต่อสัญญาณเข้าช่องต่อแบบคอมโบนี้ให้ถูก เลือกชนิดของหัวต่อและรูปแบบสัญญาณให้ตรงกับการใช้งาน สายที่นำมาใช้ต้องต่อขั้วต่างๆ ของหัวต่ออย่างถูกต้อง ถ้าต่อผิดช่องหรือใช้สายที่ต่อผิดขั้ว เสียงที่บันทึกจะเสียคุณภาพอย่างมาก มีเสียงรบกวนอย่างเสียงจี่ เสียงซ่าแทรกเข้ามามาก และร้ายแรงที่สุดคือกรณีเลือกใช้สัญญาณที่ผิดประเภทเป็นเวลานานอย่างการเสียบอุปกรณ์ Hi-Z แล้วเลือกสัญญาณเป็น Line,  หรือใช้หัวต่อแบบ XLR ต่อนำเข้าสัญญาณจากอุปกรณ์ที่ให้สัญญาณแบบ Line เช่นคีย์บอร์ด หากต่อผิดและใช้งานเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการโหลดของสัญญาณจนออดิโออินเตอร์เฟสพังได้ การต่อสายให้ถูกและเลือกใช้รูปแบบสัญญาณให้ตรงตามแหล่งเสียง จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ระดับสัญญาณสำหรับการบันทึกเสียง
ที่ตัวอินเตอร์เฟสจะมีที่ปรับค่า Gain สำหรับปรับความแรงสัญญาณได้ โดยอินเตอร์เฟสทุกรุ่นจะมีไฟบอกความแรงระดับสัญญาณที่ได้ระดับเหมาะกับการบันทึกเสียง อย่าง Tascam US-2×2 ถ้าระดับความแรงสัญญาณเหมาะสม จะมีไฟสีเขียวขึ้นที่ไฟ Sig แต่ถ้าระดับสัญญาณแรงไป จะมีไฟขึ้นที่ไฟ Peak

การปรับความแรงสัญญาณนี้ต้องใช้ดูควบคู่กับการดูค่ามิเตอร์บอกความแรงสัญญาณในโปรแกรม โดยค่าสัญญาณที่เหมาะสม คือ ให้อยู่ในช่วง -12db ถึง -6db ซึ่งการอัดเสียงแล้วสัญญาณต่ำกว่าหรือสูงกว่านี้นั้นเป็นเรื่องทำได้ แต่การอัดเสียงในระดับสัญญาณเสียงที่เหมาะสม จะทำให้ออดิโออินเตอร์เฟสเก็บเสียงได้อย่างมีคุณภาพที่สุด

เรื่องที่ทำไม่ได้และสำคัญสุดสำหรับเรื่องระดับความแรงสัญญาณก็คือ เสียงที่อัด ห้ามมีจุดที่ความแรงไปถึงค่า Peak หรือความแรงสัญญาณถึงค่า 0db เพราะข้อมูลเสียงจะเสียหาย นำไปใช้งานไม่ได้

ช่องต่อหูฟัง
จำนวนช่องต่อหูฟัง รวมถึงการมีตัวปรับความดัง(Volume)ของหูฟังแยกกับตัวปรับความดังของ Output เป็นเรื่องของความสะดวกในการใช้งาน เพราะคุณสามารถฟังเสียงจากหูฟังแล้วปิดความดังจากลำโพงได้ และถ้ามีช่องเสียบหูฟังมากกว่า 1 ช่อง คุณแยกการใช้หูฟังกับผู้ร่วมงานได้

ถ้าการปรับความดังของหูฟังกับลำโพงไม่แยกกัน เวลาคุณอัดเสียงจากไมค์ ในห้องเดียวกับที่คุณวางลำโพง คุณต้องมาคอยปิดเปิดลำโพง เพื่อไม่ให้เสียงจากลำโพงย้อนกลับเข้าไปในไมค์ ทำให้การทำงานยากขึ้นอีกมาก

สำหรับ Tascam US-2×2 มีช่องเสียบหูฟังมาให้ 1 ช่อง โดยมีตัวปรับความดังแยกระหว่างหูฟังกับลำโพงมาให้ ถ้าคุณต้องการต่อหูฟังเพิ่ม ให้ซื้อสาย Y Spliter ที่แยกหูฟังออกมาเป็นสองชุดมาใช้งาน

โปรแกรมแถม สำหรับบันทึกเสียง
สิ่งที่สำคัญในการทำงานบันทึกเสียงร่วมกับออดิโออินเตอร์เฟสก็คือ โปรแกรมสำหรับบันทึกเสียง โดยการซื้อออดิโออินเตอร์เฟสจากแบรนด์มาตรฐาน จะมีตัวโปรแกรมสำหรับบันทึกเสียงมาให้ เช่น Cubase LE, Ableton Live Lite สำหรับ Tascam US-2×2 นี้ แถม Cubase LE มาให้

โปรแกรมที่แถมนี้ เป็นโปรแกรมที่ตัดความสามารถจากโปรแกรมรุ่นใหญ่ โดยตัดความสามารถหลายอย่างออกและมีจำนวน Audio Track ไม่มาก อย่าง Cubase LE มี 16 Audio Tracks ซึ่งอาจจะน้อยไปสำหรับใช้ทำเพลงในระดับอาชีพ ทำให้ผู้ใช้มือใหม่ มองข้ามโปรแกรมที่แถมนี้ตั้งแต่แรกเพราะกลัวใช้งานไม่พอ

แต่ประโยชน์ของโปรแกรมแถมก็คือ ทำให้เมื่อคุณซื้อออดิโออินเตอร์เฟสมา คุณเริ่มทำงานได้ทันทีกับโปรแกรมที่แถมมา ซึ่งถ้าคุณเป็นผู้ใช้มือใหม่ ไม่เคยใช้โปรแกรมทำเพลงมาก่อน การเริ่มฝึกใช้งานกับโปรแกรมที่แถมมา คุณต้องใช้เวลาเรียนรู้พอควร กว่าคุณจะใช้ความสามารถของโปรแกรมได้เต็มที่และถึงขีดที่คุณรู้สึกว่าไม่พอ และการศึกษาการใช้งานจากโปรแกรมที่แถมมา คุณนำไปปรับใช้กับตัวโปรแกรมรุ่นใหญ่ได้ เพราะคำสั่ง, คีย์ลัด, การตั้งค่าต่างๆ แทบจะเหมือนกัน

ตัวโปรแกรมแถมนี้ ยังใช้เป็นส่วนลดในการซื้อตัวโปรแกรมรุ่นใหญ่ได้อีกด้วย ดังนั้น ถ้าคุณเป็นมือใหม่ในการใช้งานโปรแกรม อย่ากลัวว่าโปรแกรมแถมจะไม่ดีพอ และอย่าทิ้งโปรแกรมแถมไป

AW_Online-09.jpg


การเริ่มต้นบันทึกเสียง เริ่มได้จากการมีออดิโออินเตอร์เฟสที่เหมาะสมกับการใช้งาน การเลือกซื้ออดิโออินเตอร์เฟส นอกจากการมองเรื่องสเปค จำนวน In/Out ก็ขอให้มองเรื่องการเลือกซื้อจากยี่ห้อสินค้าที่น่าเชื่อถือด้วย โดยคุณหาขอมูลก่อนซื้อได้จากการอ่านดูรีวิว เยี่ยมชมเว็บไซต์ของผู้ผลิต และควรตรวจสอบดูข้อมูลของไดรเวอร์ของอินเตอร์เฟสนั้นๆ ว่าทางผู้ผลิต ทำไดรเวอร์ได้อัพเดตตามระบบปฏิบัติการบนคอมที่คุณใช้อยู่หรือไม่ หน้าตาโปรแกรมการจัดการไดรเวอร์และตัวอินเตอร์เฟส ทำมาดีหรือไม่

บทสรุป

สำหรับการเริ่มบันทึกเสียงคือ เลือกออดิโออินเตอร์เฟสจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้, เลือกจำนวน Input ให้เพียงพอกับการทำงาน, ต่อสัญญาณต่างๆ ให้ถูกต้อง, ตั้งระดับสัญญาณให้เหมาะสม, เรียนรู้การใช้งานโปรแกรม นี่คือแนวทางเริ่มต้นสำหรับการเริ่มบันทึกเสียง

ขอให้สนุกกับการทำเพลงครับ

 
————————————————————
ผู้เขียน ธนภัทร แสงสุตะโกศล(บอม) – โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำเพลงโฆษณาและศิลปินวง Tea or Me ปัจจุบันเปิดเพจแนะนำการทำเพลงและรับผลิตเพลง ติดตามเฟสบุ๊คเพจได้ที่ https://www.facebook.com/RiddimerStudio/

 

สอบถามเพิ่มเติม

– Tel : 02-1054474 กด 1
– Facbook 
ProPlugin
– Instagram : ProPlugin
– Twitter : @ProPlugin 
– Youtube : ProPlugin
– Line ID : @ProPlugin (อย่าลืมใส่ @ ไว้ข้างหน้า)

Line-001.png

Products Recommend

TASCAM US-1X2HR

In stock

Original price was: ฿ 3,990.Current price is: ฿ 3,490.

TASCAM US-2X2HR

In stock

Original price was: ฿ 5,990.Current price is: ฿ 5,490.

ใส่ความเห็น