การบันทึกเสียงกีต้าร์ไฟฟ้าให้ได้คุณภาพดีที่สุด

       กีต้าร์เป็นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งที่มีขอบเขตของเสียงที่กว้าง ทั้งเสียง Clean เสียงแตก เสียงจากการใช้เอฟเฟกต์ การใช้ปิ๊กอัพ รวมไปถึงเสียงที่ได้จากเทคนิคการเล่น การบันทึกเสียงกีต้าร์ให้ได้เสียงที่ดีในยุคการบันทึกเสียงแบบอนาล็อกนั้น ต้องใช้ทรัพยากรในการบันทึกเสียงมากมาย ทั้งแอมป์ที่ดีที่ให้คุณภาพเสียงและมีกำลังขับที่เพียงพอ ต้องอัดในกำลังขับที่ดัง ต้องอัดในห้องบันทึกเสียงที่เก็บเสียงได้ดี จึงมีความซับซ้อนและต้นทุนในการอัดที่สูง แต่พอเข้าสู่ยุคการบันทึกเสียงแบบดิจิตอลที่ใครๆ ก็สามารถบันทึกเสียงได้เอง การบันทึกเสียงกีต้าร์นั้นทำได้ง่ายๆ เพราะ Audio Interface ที่ทำออกมาขายทุกตัว สามารถต่อกีต้าร์เพื่ออัดเสียงแบบ Direct เข้าสู่อินเตอร์เฟสได้โดยตรง แล้วให้เราใช้ปลั๊กอินจำลองเสียงแอมป์สร้างเสียงกีต้าร์ให้เหมือนกับเสียงที่บันทึกผ่านตู้แอมป์ได้ นี่คือความง่ายของการบันทึกเสียงกีต้าร์ในวันนี้ ซึ่งหนึ่งในผู้บุกเบิกปลั๊กอินจำลองแอมป์กีต้าร์ที่ใช้งานได้อย่างดีรายแรกๆ ของโลกก็คือ IK Multimedia ผู้ผลิตปลั๊กอิน Amplitube โดยการมาถึงของ Amplitube เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ถือเป็นการปฏิวัติการบันทึกเสียงกีต้าร์ เพราะ Amplitube ไม่ใช่แค่เป็นปลั๊กอินจำลองเสียงแอมป์ แต่ทำหน้าที่เป็นการจำลองระบบการบันทึกเสียงกีต้าร์ที่จำลองทั้งแอมป์ ชนิดลำโพง ไมค์ที่ใช้อัด ระยะการวางไมค์ รูปแบบห้อง ซึ่งก็คือการจำลองรายละเอียดในการบันทึกเสียงกีต้าร์เอาไว้ทุกขั้นตอน ทำให้เส้นของการแยกได้ว่าเสียงกีต้าร์ผ่านการบันทึกจากการอัดจากแอมป์จริงหรือใช้ปลั๊กอิน ถูกลบไป IK Multimedia คือผู้เชี่ยวชาญด้านปลั๊กอินเสียงกีต้าร์ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตแอมป์และอุปกรณ์ทางด้านกีต้าร์ชั้นนำอย่าง Fender, Ampeg, Fulltone, T-rex etc. โดยได้จำลองอุปกรณ์จากผู้ผลิตเหล่านี้มาไว้บนปลั๊กอิน Amplitube แบบมีหน้าตาและยี่ห้อของผู้ผลิตเหล่านั้นชัดเจน ถือเป็นการรับรอง “ความเหมือน” ของการจำลองเสียงจาก Amplitube จากผู้ผลิตต้นแบบ นอกจากการเป็นผู้นำด้านปลั๊กอินจำลองเสียงแอมป์แล้ว IK Multimeedia ยังมีกลุ่มสินค้ากลุ่ม iRig  ที่เน้นการเชื่อมต่อเพื่อบันทึกเสียงกีต้าร์เข้ากับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ iOS (iPhone, iPad, iPod)เพื่อใช้ร่วมกับ Amplitube และกลุ่มสินค้า iRig นี้มีสินค้าหลากหลายให้เลือกใช้ ตามลักษณะงานที่ต้องการ สำหรับบทความตอนนี้ ทางโปรปลั๊กอิน ส่ง iRig Micro Amp ซึ่งเป็นแอมป์กีต้าร์ขนาดเล็กมาให้ผมทดสอบใช้ทำงานบันทึกเสียงกีต้าร์ การที่เป็นสินค้าในกลุ่ม iRig แอมป์ตัวนี้จึงทำหน้าที่เป็น Audio Interface ใช้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ iOS ได้ด้วย สิ่งที่เราจะมาดูกันในบทความนี้คือ เราสามารถอัดเสียงกีต้าร์ให้ดีได้จากแอมป์ที่มีขนาดเล็กแบบนี้ จะทำได้จริงไหม แกะกล่อง ลองเล่น พอเปิดกล่องออกมาสำรวจรูปร่างหน้าตาลักษณะทั่วไป พบว่า iRig Micro Amp มีขนาดไม่ใหญ่ น้ำหนักจัดว่าเบา ซึ่งขนาดและน้ำหนักนี้ทำให้พกใส่กระเป๋าเป้ออกไปนอกสถานที่ได้สบายๆ สิ่งที่แถมมาด้วยในกล่อง มีสาย USB สองเส้น เป็นสายสำหรับต่อกับคอมพิวเตอร์ และสายต่อเข้ากับอุปกรณ์ iOS มีถ่านขนาด AA มาให้ 6 ก้อน เพราะ iRig Micro Amp ใช้ไฟได้จากทั้งถ่านและไฟ 9VDC มีแผ่นรหัสสำหรับลงทะเบียนโปรแกรมต่างๆ ที่แถมมา ผมลองเปิด iRig Micro Amp โดยใช้ไฟจากหม้อแปลงสำหรับเอฟเฟกต์ก้อนที่มีอยู่ ก็จ่ายไฟใช้งานได้ทันที ลองเสียบกีต้าร์เล่นไปเรื่อยๆ เพื่อทำความคุ้นเคยกับปุ่มปรับต่างๆ บนแอมป์ โดยค่าต่างๆ ที่ปรับได้บนแอมป์ได้แก่ ค่า Gain / Volume / Bass / Mid / Treble และมีปุ่มเลือกเสียงอีก 3 ปุ่ม ได้แก่ Clean / Drive / Lead จากการเล่นเสียง Clean เสียงที่ได้จากตัวแอมป์ชัดเจนดีแม้ตัวดอกลำโพงจะมีขนาดแค่ 4 นิ้ว แต่เสียงที่ได้ไม่ได้รู้สึกว่าความถี่หายแบบเสียงจากลำโพงโทรศัพท์หรือจากลำโพงคอมเล็กๆ ตัวเสียงที่ได้ชัดเจนแบบแอมป์กีต้าร์และเสียงไม่แปร่งแบบทุ้มไปหรือแหลมไป เรื่องความดังนี้ ถ้าใช้ฝึกหรือฟังในห้อง เปิดวอลลุ่มไม่ถึงครึ่ง เสียงก็ดังมากๆ สรุปในมุมแรกก่อนคือ เสียบกีต้าร์เล่นเสียง Clean ปุ๊บ เสียงดีใช้ได้ ตรงนี้ถือว่าผ่านในขั้นแรก ผมลองเสียง Lead หรือเสียงแตกแบบ Distrotion ที่ให้มา ก็ทำให้แปลกใจได้อีก เพราะพอปรับเป็นเสียงแตกแล้ว เสียงแตกที่ได้ใหญ่ หนาและดุดัน ไม่บี้แบนตามความรู้สึกที่เห็นขนาดแอมป์ เสียงแตกจาก iRig Micro Amp นี้ ผมเองจัดให้เป็น Distrotion ที่ดีมากตัวหนึ่ง ดีแบบยากที่จะเอาก้อน Distrotion ทั่วไปมาเสียบเล่น แล้วจะได้เสียงแบบนี้ ตรงนี้ถือเป็นข้อเด็ดของ iRig Micro Amp เลย คือเสียง Distrotion ที่เป็นเนื้อ ดุดัน ขั้นต่อมาคือลองเสียงแบบ Drive ซึ่งเป็นเสียงแตกน้อยๆ แบบ Overdrive ซึ่งแอมป์ส่วนใหญ่หรือแม้แต่ปลั๊กอินจำลองแอมป์ต่างๆ มักตกม้าตายตรงนี้ เพราะเสียงแตกอ่อนๆ นี้ ทำให้ออกมาดียากกว่าเสียง Clean และเสียงแตกสนั่น เสียงแตกอ่อนๆ ต้องเก็บทั้งเนื้อเสียงกีต้าร์ไว้และได้ความหนึบความแน่นแบบ Overdrive เสียงโหมด Drive ของ iRig Micro Amp ทำได้ดี มีความคลีนมากกว่าความแตก แต่ก็ยังรู้สึกมีความหนึบในการเล่นและเสียงไม่กรอบ ยังได้เนื้อเสียงที่ดี แต่มุมผมเองมองว่าเหมาะเอาไว้เล่นคอร์ดหรือวิธีการเล่นที่ไม่หนักหน่วงรุนแรงมาก เพราะเสียงออกไปทางเรียบร้อย ไม่ได้กัดจิกหรือแตกมาก การปรับ Gain ของแอมป์ ปรับแล้วเห็นผลเรื่องความหนาแน่นของเสียงและความแตกของเสียงได้ดี การปรับโทนของทั้ง 3 ปุ่มที่ให้มา มีผลต่อเสียงต่ำ กลาง แหลม แต่การเปิดสุดปิดสุด ให้ผลต่างกันไม่มาก ในการลองเล่นกับกีต้าร์แบบแอมป์ทั่วไปนี้ iRig Micro Amp ตอบโจทย์ในการเป็นแอมป์ประจำห้องสำหรับฝึกได้ครบทุกอย่าง นั่นคือ เสียงคลีนดี มีเสียงแตกให้ทั้งแตกน้อย แตกมาก ทำให้เสียบกีต้าร์แล้วฝึกได้เลย ไม่ต้องง้อก้อนมาต่อเพิ่ม มีเสียงดังทีเพียงพอสำหรับฝึก มีช่องต่อแหล่งเสียงภายนอกอย่างเครื่องเล่น MP3 ได้ มีช่องต่อหูฟัง และด้วยขนาดที่เล็ก จึงง่ายกับการยกไปเล่นนอกสถานที่ได้ และถ้าเสียงจากลำโพงในตัว iRig Micro Amp นี้ไม่ดังพอ ก็ยังสามารถต่อลำโพงภายนอกเพิ่มเติมได้ สรุปคือในมุมเป็นแอมป์กีต้าร์ iRig Micro Amp มีประโยชน์เกินขนาดไปมาก ทดสอบการบันทึกเสียง อย่างที่แนะนำไปว่าสินค้าในกลุ่ม iRig ถูกผลิตมาให้เป็น Audio Interface สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ iOS เพื่อบันทึกเสียงได้ ผมทดสอบบันทึกเสียงกีต้าร์ผ่าน iRig Micro Amp โดยบนวินโดวส์ ต้องดาวน์โหลดไดร์เวอร์เวอร์ Asio4all มาใช้เป็นไดร์เวอร์เวอร์สำหรับโปรแกรมทำเพลง เมื่อต่อสาย USB เข้ากับคอมพิวเตอร์ ตัว iRig จะทำหน้าที่เป็น Audio Interface โดยปุ่มตั้งค่าต่างๆ บนแอมป์ จะใช้ไม่ได้ เหลือค่าที่ตั้งได้แค่สองค่าคือ ค่า Gain ใช้สำหรับปรับสัญญาณ input ที่เข้าไปใน Audio interface และ Volume ใช้ปรับความดังของลำโพง ผมทดสอบอัดเสียงกีต้าร์โดยทำเพลงขึ้นมาใหม่ แล้วอัดกีต้าร์ผ่าน iRig Micro Amp แบบ Audio Interface เสียงที่ได้ จะเป็นเสียงกีต้าร์แบบที่เราต่ออัด Direct โดยไม่มีลักษณะเสียงของความเป็นแอมป์ ค่าโหมด Clean / Drive / Lead บนแอมป์จะใช้ไม่ได้ และไม่ถูกอัดเข้ามาด้วย ตัวเสียงจากการอัดแบบ Direct ที่ได้ เสียงกีต้าร์ยังมีเนื้อ มีความกลมอุ่น ซึ่งเป็นลักษณะเสียงที่ดี ต่างกับการใช้ Audio Interface ที่รับเสียงกีต้าร์ได้ไม่ดี การอัดแบบ Direct เสียงกีต้าร์จะแหลมๆ เหมือนดีดลวด ตรงนี้จึงเป็นข้อดีของ iRig Micro Amp ในมุมของการเป็น Audio Interface สำหรับอัดกีต้าร์ ที่ให้เนื้อเสียงกีต้าร์ที่ดี ผมตั้งค่า Latency ของไดร์เวอร์อยู่ที่ประมาณ 160 ms ก็รู้สึกว่าการอัดเสียงทำงานได้ดี ไม่รู้สึกหน่วง แต่ถ้าตั้งค่าต่ำกว่านี้ จะเจออาการเสียงสะดุดได้ เมื่ออัดเสียงกีต้าร์ได้ตามที่ต้องการ ผมนำเสียงไปมิกซ์โดยใช้ปลั๊กอิน Amplitube เพื่อจำลองเสียงแอมป์ ปลั๊กอิน Amplitube นี้ จะมีแถมมาให้ โดยเป็นรุ่นพื้นฐาน มีแอมป์มาให้ 9 แบบ บวกกับลำโพง ไมค์ และก้อนต่างๆ ที่มีมาให้ใช้อย่างเพียงพอ นี่คือเพลงที่ผมอัดกีต้าร์ตรงและมิกซ์ผ่านปลั๊กอิน Amplitube   Click.png สรุปในมุมของการเป็น Audio Interface สำหรับกีต้าร์ iRig Micro Amp ผ่านในแง่ใช้งานง่าย อัดแล้วได้เสียงกีต้าร์ที่ดี ปลั๊กอิน Amplitube ที่ให้มา คุ้มค่าแบบของซื้อ ไม่ใช่ของแถม ลองอัดเสียงแบบใช้ไมค์จ่อแอมป์ แม้ว่าตัว iRig Micro Amp จะเป็น Audio Interface สำหรับอัดกีต้าร์ แต่อย่างที่บอกว่าในโหมดการใช้งานแบบ Audio Interface นั้น จะเก็บเสียงกีต้าร์แบบ Direct โดยเสียงไม่มีลักษณะแอมป์ ซึ่งถ้าเราอยากได้ลักษณะเสียงความเป็นแอมป์กีต้าร์ของ iRig Micro Amp เราก็ต้องกลับมาหาวิธีอัดเสียงแบบทั่วไป คือการใช้ไมค์จ่อ ซึ่งจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า แอมป์ขนาดเล็ก ความดังไม่มาก อัดโดยใช้ไมค์จ่อ ในห้องที่ไม่ใช่ห้องบันทึกเสียง เสียงที่อัดมาจะใช้ได้จริงหรือ ผมอัดเสียงกีต้าร์จาก iRig Micro Amp โดยการจ่อไมค์ Shure แบบ Dynamic ที่เสียบเข้า Focusrite Scarlett 6i6 เสียงกีต้าร์ที่เข้าแอมป์ผมใช้วิธี Reamp ส่งสัญญาณกีต้าร์ที่อัดไว้แบบ Direct ส่งเข้ามาที่ iRig Micro Amp แล้วตั้งค่าโทน ตั้งค่าเสียงแตกตามที่พอใจ ระยะจ่อไมค์ห่างจากแอมป์ไม่เกิน 1 นิ้ว ผลคือเสียงที่ได้ ไม่รู้สึกว่าเสียงบางหรือรู้ได้ว่าลำโพงจากแอมป์ที่อัดมีขนาดเล็ก คุณภาพเสียงใช้ได้ เป็นไปตามโทนของเสียงที่ตั้งไว้ นี่คือเพลงที่ผมอัดกีต้าร์โดยใช้ไมค์จ่อแอมป์    Click.png iRig Micro Amp สามารถใช้ทำงานอัดกีต้าร์แบบใช้ไมค์จ่อได้ เหตุที่เราใช้ไมค์จ่อแอมป์ขนาดเล็กแล้วเสียงกีต้าร์ยังชัดเจน ครบถ้วน ให้นึกแบบนี้ คือ ความรู้สึกเล็กหรือใหญ่ของเสียงที่เราได้ยิน เกิดจากขนาดของแหล่งเสียงและระยะที่เรารับเสียง เราได้ยินเสียงกีต้าร์จากแอมป์ใหญ่ ในห้องที่ใหญ่ เราก็รู้สึกว่าเสียงใหญ่ แต่แอมป์ตัวเดียวกัน ถ้าเราได้ยินจากระยะห่างไป 200 เมตร ก็จะรู้สึกถึงเสียงที่เล็กลง หรืออย่างการใช้หูฟังแบบ Earbud แม้ขนาดลำโพงของหูฟังจะมีขนาดเล็กมา แต่เมื่อเราฟังจากระยะใกล้มากๆ อย่างการใช้งานปกติคือเสียบไว้ในหู เราก็ได้ยินเสียงต่างๆ ครบถ้วนชัดเจนได้ นี่คือผลของเรื่องขนาดจุดเกิดเสียงกับระยะการได้ยิน การอัดกีต้าร์โดยใช้ไมค์จ่อแอมป์ขนาดเล็กอย่าง iRig Micro Amp ก็ใช้หลักการเดียวกัน คือการรับเสียงจากแหล่งเกิดเสียงที่ใกล้มากและแหล่งเกิดเสียงนั้นให้เสียงที่ครบถ้วน ก็จะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกเรื่องขนาดของเสียง ทำให้เสียงที่อัดมา เราได้ยินเหมือนการอัดจากแอมป์ขนาดใหญ่ สรุปคือด้วยคุณภาพเสียงที่ iRig Micro Amp ทำได้ จึงใช้เป็นแอมป์สำหรับบันทึกเสียงแบบใช้ไมค์จ่อได้สบาย
———————————————————— ผู้เขียน ธนภัทร แสงสุตะโกศล(บอม) – โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำเพลงโฆษณาและศิลปินวง Tea or Me ปัจจุบันเปิดเพจแนะนำการทำเพลงและรับผลิตเพลง ติดตามเฟสบุ๊คเพจได้ที่ https://www.facebook.com/RiddimerStudio/

ใส่ความเห็น