ทำความรู้จักกับ Bluetooth Codec aptX

ในอดีตการส่งสัญญาณเสียงผ่าน Bluetooth ให้ได้คุณภาพดีนั้น เป็นเรื่องทำได้ยากมาก ๆ เพราะติดปัญหาในด้าน Bandwidth เนื่องจากการส่งสัญญาณของ Bluetooth เป็นการส่งสัญญาณแบบกระแสต่ำ ทำให้ไม่สามารถส่งข้อมูลปริมาณมาก ๆ ได้ จึงกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญในการฟังเพลง เพราะการฟังเพลงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการ Streaming Packet แต่ละรอบในระดับปริมาณมหาศาล
 
ถ้าเป็นฟอร์แมตเพลงระดับ Hi-Res ยิ่งต้องการ Bandwidth ในการส่งข้อมูลมากกว่าแบบธรรมดา ดังนั้นจึงมีการคิดค้นเทคนิควิธี เพื่อให้สามารถฟังเพลงได้โดยที่ไม่เกิดอาการสะดุด และคุณภาพดีเหมือนฟังผ่านหูฟัง หรือลำโพงที่มีสาย ซึ่งระบบที่จะใช้ควบคุมการทำงานของแพ็คเกจในการส่งข้อมูลสำหรับการฟังเพลง ก็คือ Codec นั่นเอง
 

“aptX” เป็นอีกหนึ่ง Codec ยอดนิยม ที่สายฟังเพลงต้องเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างแล้ว aptx จะมีจุดเด่นอะไรบ้าง? 

 
 
aptX Codec ถูกคิดค้นโดยบริษัท CSR ซึ่งถ้าใครเคยเห็นโลโก้ของ aptX มาก่อน ก็จะเห็นคำว่า CSR ข้างใต้ของ aptX อีกที ก่อนที่จะถูก Take Over โดย Qualcomm นั้น ทาง aptX ก็ได้พัฒนา Codec ตัวนี้ออกไปในหลาย ๆ รุ่น แยกออกเป็น aptX Low Latency, aptX Live, Enhanced aptX และ aptX lossless แต่พอถูก Take Over ไป ทาง Qualcomm จึงลดประเภทให้น้อยลง เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น และเหลือด้วยกัน 3 ประเภทดังนี้
 
 

1. aptX

คือ มาตรฐานหลักของการสตรีมมิ่งของทาง CSR ซึ่งตัว aptX พื้นฐานนั้นสามารถส่งข้อมูลได้สูงสุด 384 kbps แต่แม้จะสูงกว่า SBR ไม่มาก ก็ใช้เทคนิคการส่งข้อมูลที่แตกต่างกัน เพราะโดยปกตินั้น การส่งข้อมูลทั้งในแบบ LDAC หรือ SBR จะเป็นการส่งข้อมูลไปในแต่ละครั้งมีขนาดที่ใหญ่มาก แต่ aptX จะใช้วิธีบีบให้เล็ก และแบ่งซอยจำนวนการส่งให้ถี่ขึ้น แล้วค่อยไปรวมก้อนใหญ่ที่ปลายทางแทน ผลก็คือทำให้เกิดปัญหาเรื่องคอขวด หรือ Jitter ได้น้อยมาก ๆ นั่นเองครับ
 

2. aptX HD

ในเมื่อ Sony มี LDAC แล้ว ทาง Qualcomm เองก็ไม่น้อยหน้า ด้วยการปล่อยความสามารถ aptX Codec ให้สามารถสตรีมมิ่งไฟล์เพลงในระดับ Hi-Res ได้ และมีชื่อว่า aptX HD ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก aptX Lossless จริง ๆ จะเรียกว่าพื้นฐานก็ไม่ถูก ต้องเรียกว่าเปลี่ยนชื่อเรียกให้เข้าใจง่ายขึ้นจะดีกว่า แน่นอนว่า Codec นี้ทำมาเพื่อสู้กับ LDAC โดยเฉพาะ แต่จะด้อยกว่าหน่อย เพราะมันสามารถรองรับการสตรีมมิ่งในระดับ 24bit/48k และส่งข้อมูลได้เพียง 576kbps เท่านั้น แต่ด้วยเทคนิคการหั่นข้อมูลแบบ aptX ก็ทำให้เพียงพอต่อการส่งข้อมูลในระดับ Hi-Res ได้ โดยไม่เจอปัญหาคอขวดแต่อย่างใด
 
 

3. aptX Low Latency

จริง ๆ Codec ประเภทนี้ จะไม่ค่อยเหมาะกับการฟังเพลงมากเท่าไรนัก แต่กลับไปเหมาะกับการเล่นเกมมาก ๆ เพราะมันออกแบบมาเพื่อความรวดเร็วในการส่งสัญญาณ เพื่อให้ Sync ได้พอดิบพอดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า โดยเฉพาะการดูหนัง และการเล่นเกมที่อาศัยความพอดีของเสียงให้ตรงกับเหตุการณ์นั้น ๆ แต่ถึงจะไม่เหมาะกับการฟังเพลง ทว่าตัวมันก็รองรับการสตรีมมิ่งในระดับเดียวกันกับ aptX ปกติ โดยจะรองรับความละเอียดสูงสุดที่ 16bit/48k เพียงแต่ความเร็วและความต่อเนื่องของสัญญาณดีกว่านั่นเอง